ความเป็นมา
“ชาจากพืช” [1] หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง อาจผ่านการบดหยาบหรือลดขนาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปบริโภคโดยการต้มหรือ ชงกับน้ำ การบดหยาบหรือลดขนาด
ไม่รวมถึง การนำมาต้มน้ำ แล้วนำน้ำต้มที่ได้มาให้เป็นผงชงละลายดื่ม
หลักเกณฑ์พิจารณาพืชและส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบสาหรับชาจากพืช มีดังนี้
1) ประวัติการใช้เป็นอาหาร [2] หรือบริโภคในรูปแบบชาจากพืชที่เป็นอาหารมากกว่า 15 ปี และไม่พบสารพิษธรรมชาติ (Natural toxin) หรือสารอื่นที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ
2) วิธีการบริโภค ต้องไม่มีข้อบ่งใช้ ไม่จำกัดขนาดรับประทาน และไม่จำกัดกลุ่มผู้บริโภค เป็นการเฉพาะ และ
3) วัตถุประสงค์การบริโภคต้องไม่มีความมุ่งหมายหรือหวังผลในเชิงบำบัด บรรเทา ป้องกัน รักษาโรค ไม่มีความมุ่งหมายให้ผลต่อการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2564 ออกตาม ความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ชาจากพืช กำหนดพืชและส่วนของพืชที่นำมาผลิตชาจากพืชได้ตามบัญชีแนบท้าย จำนวน 201 รายการ ส่วนพืชและส่วนของพืชอื่นเพิ่มเติมจะต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
วัตถุประสงค์
เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับพิจารณาความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์พืชหรือส่วนประกอบของพืชที่ใช้เป็นชาที่จะประกาศเพิ่มในบัญชีแนบท้ายท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2564 ออกตาม ความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ชาจากพืช
ขอบข่าย
ผู้ผลิตหรือนำเข้าชาจากพืช ประสงค์จะแก้ไขข้อมูลการแจ้งรายละเอียดอาหาร หรือเพิ่มเติมรายการพืชหรือส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตชา สามารถยื่นแก้ไขข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ชาจากพืช ได้โดยส่งข้อมูลตามช่องทางที่กำหนด พร้อมรายละเอียดประกอบการพิจารณาตามแนวทางที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่เกี่ยวข้อง [3] โดยส่งข้อมูลตามรายละเอียดในแบบตรวจสอบ (checklist) ในเอกสารแนบท้าย
ระยะเวลา : 20 พฤศจิกายน 2566 - 20 กุมภาพันธ์ 2567
ช่องทาง : food.publichearing@gmail.com
ที่อยู่ : กลุ่มกำหนดมาตรฐาน กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 0 2590 7179
หมายเหตุ :
-
- การรักษาความลับ กรณีมีข้อมูลที่อาจเป็นความลับทางการค้าโปรดระบุว่าข้อมูลใดที่ถือว่าเป็นความลับทางการค้าพร้อมเหตุผลที่สามารถตรวจสอบได้เพื่อประกอบการพิจารณา
- ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในการประเมินส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง
[1] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ชาจากพืช
[2] ประวัติการใช้เป็นอาหาร หมายถึง ข้อมูลของอาหารที่มนุษย์บริโภคโดยทั่วไป โดยระบุรูปแบบ ปริมาณการบริโภค และระยะเวลาการบริโภค รวมทั้งระบุกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย (กรณีที่มีการกำหนดไว้เฉพาะ) เช่น ทารก เด็ก และผู้ใหญ่
[3] ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ชาจากพืช