ความเป็นมา
มาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ขอให้พิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพิธีสารเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการที่เหมาะสมในการขนย้าย การควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หลังจากการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายปี พิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ได้รับการรับรอง และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546
พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นเครื่องมือระหว่างประเทศที่มีพันธะผูกพัน (binding international instrument) มีลักษณะที่แยกส่วนแต่สัมพันธ์กับความตกลง อนุสัญญา และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งลักษณะของการแยกส่วนนี้ ทำให้มีภาคีสิทธิ และข้อกำหนดเป็นของตัวเอง และต้องมีการเจรจา
ลงนามให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติและมีผลบังคับใช้โดยเฉพาะในตัวเองเช่นกันโดยมีผลผูกพันเฉพาะกับประเทศที่เป็นภาคีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับประเทศภาคี จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในพิธีสารด้วย
กลไกที่สนับสนุนการดำเนินงานตามพิธีสาร ได้แก่ การประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP-MOP) โดยปกติจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี คู่ขนานไปพร้อมกันกับการประชุมสมัชชาภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
วัตถุประสงค์
กำหนดตามแนวทางระมัดระวังล่วงหน้า (precautionary approach) ตามที่ระบุไว้ในหลักการข้อ 15 ของปฏิญญาริโอ เดอจาเนโร สาธารณรัฐบราซิล ปี พ.ศ. 2535 ดังนี้
- ให้มีระดับการป้องกันที่เพียงพอในการเคลื่อนย้าย ดูแล และใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่อาจมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนให้เป็นไปอย่างปลอดภัย
- คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของมนุษย์
- ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคลื่อนย้ายข้ามแดน (transboundary movement)
สาระสำคัญ
พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ประกอบด้วย 40 มาตรา แบ่งออกเป็นส่วนหลักๆ ได้ 9 ส่วน คือ วัตถุประสงค์ (objective), ขอบเขต (scope), วิธีการดำเนินการ, การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (risk management), ข้อมูลและสิ่งพึงปฏิบัติต่าง ๆ, การเสริมสร้างขีดความสามารถ, เรื่องทั่ว ๆ ไป,การกำหนดการบริหารต่าง ๆ และมาตราขมวดท้าย (final clause) รวมถึงข้อมูลที่ต้องระบุในการแจ้งภายใต้มาตรา 8,10 และ 13, ข้อมูลสำหรับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งมีเจตนาเพื่อนำมาใช้โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์หรือในขบวนการผลิตภายใต้ มาตรา 11 และการประเมินความเสี่ยงภายใต้มาตรา 15
พิธีสารให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลและการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบเสียหายต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน โดยพิธีสารอ้างอิง แนวทางระมัดระวังล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดระเบียบวิธีการสำหรับความตกลงที่ได้แจ้งล่วงหน้า (advance informed agreement – AIA) เพื่อให้หลักประกันว่าประเทศต่าง ๆ จะได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอที่จะตัดสินใจก่อนให้ความเห็นชอบกับการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม การนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมข้ามเขตแดนเพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์ หรือการผลิต/การแปรรูปใด ๆ นอกจากนี้ พิธีสารยังระบุถึงกลไกในการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และกำหนดกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่รวมถึงมาตรการในการดูแลให้มีการตัดสินใจที่ได้รับแจ้งข้อมูล (informed decision) ก่อนที่จะมีการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม