การยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร ผ่านระบบ e-submission โดยเนื้อหาการโฆษณาไม่เข้าลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร
21 มิถุนายน 2566

การยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร ผ่านระบบ e-submission

โดยเนื้อหาการโฆษณาไม่เข้าลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร

 

               (ลักษณะการโฆษณาตามบัญชีแนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ฉบับที่ 3) และที่จะมีการประกาศต่อไป)

               ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร ผ่านระบบ e-submission (มีค่าใช้จ่าย) ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวก ไม่ต้องเดินทางมายื่นคำขอที่สำนักงานฯ และได้รับผลการพิจารณาภายใน 8 วันทำการ ซึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับการขออนุญาตโฆษณานั้น เฉพาะกรณีที่เนื้อหาโฆษณามีการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร (ซึ่งต่อไปจะเรียก"คุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร" ว่า "สรรพคุณของอาหาร") แต่ถ้าเนื้อหาโฆษณาไม่มีการแสดงสรรพคุณของอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมายื่นขออนุญาตแต่อย่างใด

              แต่เนื่องจากขณะนี้ เกิดวิกฤติการกระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณาสรรพคุณของอาหารที่ไม่ถูกต้อง โฆษณาสรรพคุณอาหารที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนร่วมมือกันตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิด เป็นผลทำให้สื่อและผู้ประกอบการโฆษณาไม่กล้าโฆษณาและไม่มั่นใจว่า เนื้อหาที่จะโฆษณาที่อยู่ในมือตนเองนั้น จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

              เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการโฆษณาที่ต้องการนำหลักฐานไปแสดงต่อสื่อในการโฆษณาอาหารที่มีเนื้อหาไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสำนักอาหาร กลุ่มกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด งานโฆษณา จึงได้ปรับเพิ่มกระบวนงานการยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหารผ่านระบบ e-submission "เฉพาะการโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เข้าลักษณะแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยแน่แท้ ที่ผู้ประกอบการได้แจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ต้องการจะโฆษณาแบบที่เนื้อหาไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร" ด้วยการลดระยะเวลาการดำเนินการ ในการพิจารณาและประทับตรารับรองผล ให้แล้วเสร็จภายใน 2 วันทำการ (จากเดิม 8 วันทำการ) และลดการใช้เอกสารประกอบการพิจารณาบางรายการ ได้แก่ แบบฉลากอาหาร (เฉพาะอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารโดยไม่ต้องส่งฉลากให้พิจารณา) ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561

 

เงื่อนไขการยื่นคำขออนุญาตโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร

 ที่ผู้ประกอบการได้แจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ต้องการจะโฆษณาแบบที่เนื้อหาไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร

              1. เนื้อหาโฆษณา ทั้งภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร(ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ จากประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ฉบับที่ 3) และที่จะมีการประกาศต่อไป)

              หมายเหตุ  การแสดงชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร ที่เป็นสารอาหารหรือเป็นสารสำคัญที่ได้จากส่วนประกอบ ในเนื้อหาการโฆษณาหรือบนภาพฉลากในหน้าโฆษณา จัดเป็นการกล่าวอ้างชนิดของสารอาหาร/สารสำคัญ เข้าข่ายเป็นการโฆษณาสรรพคุณของอาหาร)

              2. ฉลากอาหาร

                     2.1 ไม่ต้องส่งตัวอย่างฉลากอาหารประกอบการพิจารณา (เฉพาะอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารโดยไม่ต้องส่งฉลากให้พิจารณา) แต่ฉลากอาหารต้องมีรายละเอียดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

                     2.2  ภาพฉลากอาหารที่ปรากฏในหน้าโฆษณา ต้องแสดงรายละเอียดของภาพให้เห็นชัดเจน และทั้งภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร

              3. ยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหารผ่านระบบ e-submission โดยยังต้องยึดถือเงื่อนไขตามแบบการยื่นปกติด้วย (ชำระค่าพิจารณาคำขอ 2,000 บาท, ไม่ได้รับใบอนุญาตโฆษณาอาหาร) (ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ เหมือนการยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร e-submission แบบปกติ แต่ระยะเวลาจะลดลงเหลือ 2 วันทำการ)

              4. ส่งเอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้

                     4.1 คำขออนุญาตโฆษณาอาหาร(แบบ ฆอ.1)(ดาวน์โหลดจากระบบ) ระบุสื่อโฆษณาที่สอดคล้องกับเนื้อหาโฆษณา ระบุจำนวนหน้าให้ตรงกับจำนวนหน้าของเอกสารแนบท้ายที่ยื่น ระบุเลขสารบบอาหารและชื่ออาหารภาษาไทยตรงตามหลักฐานการออกเลขสารบบอาหารและเป็นปัจจุบัน

                     4.2 เอกสารแนบท้ายคำขออนุญาตโฆษณา (แบบ ฆอ.3) ที่มีเนื้อหาการโฆษณาที่เห็นได้ชัดเจน รวมทั้งภาพฉลากอาหารที่ปรากฏในหน้าโฆษณา ต้องแสดงรายละเอียดให้เห็นได้ชัดเจน และทั้งภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เข้าลักษณะเป็นการแสดงสรรพคุณของอาหาร

                     4.3 เอกสารของผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาต ได้แก่

      • เอกสารการได้รับเลขสารบบอาหาร เช่น สบ.5 รวมทั้ง สบ.6 (ถ้ามี), สบ.7 รวมทั้ง สบ.8 (ถ้ามี), สบ.3 รวมทั้ง สบ.4 (ถ้ามี) พร้อมฉลากที่ได้รับอนุมัติ, ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารทุกแผ่นทุกหน้าพร้อมฉลากที่ได้รับอนุมัติ
      • ใบอนุญาตผลิตอาหารหรือใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังไม่หมดอายุ

                     4.4 เอกสารประกอบการกล่าวอ้างโฆษณาที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอื่นๆ เช่น ต้องการกล่าวอ้างเกี่ยวกับสถานที่ผลิต: ให้ส่งหนังสือรับรอง GMP ที่ยังไม่หมดอายุ

                     4.5 หนังสือแสดงความประสงค์ (ตามแบบที่กำหนด) ว่าจะยื่นคำขออนุญาตโฆษณาที่เนื้อหาโฆษณาไม่เข้าลักษณะเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประทับตราลงนาม (โดยให้อัพโหลดเอกสารนี้ ในหัวข้อที่กำหนดในระบบในขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาต)

              5. ข้อควรระวัง การยื่นคำขอตามกระบวนงานนี้ ถ้าหากเนื้อหาโฆษณาหรือภาพฉลากอาหารทั้งภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าลักษณะเป็นการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร จะถูกพิจารณาคืนคำขออนุญาต โดยไม่คืนเงินค่าคำขอ

                     โดยขอแนะนำว่า เนื้อหาของการโฆษณาไม่ควรมีเนื้อหามาก ควรมีจำนวนหน้าเอกสารแนบท้าย เพียง 1-2 หน้า เพราะถ้ามีเนื้อหามาก จะมีการสอดแทรก/แฝงการโฆษณาสรรพคุณ ระหว่างการดำเนินเรื่อง ซึ่งอาจมีผลทำให้ถูกคืนคำขอ

              6. การแจ้งผลการพิจารณา

 

                          สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาแล้ว เนื้อหาโฆษณาที่ถูกตัด ภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ตามลักษณะนี้ ไม่เข้าลักษณะต้องได้รับอนุญาตจาก

           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากไม่มีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร

                          ภาพฉลากผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในหน้าโฆษณาต้องไม่มีภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียง ที่ขัดต่อต่อกฎหมาย และต้องไม่มีภาพ/ข้อความ/ข้อความเสียงที่เข้า

           ลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร

 

                                      ลงชื่อ ..................................................                      

                                      ตำแหน่ง..............................................                      

                                      วันที่.....................................................                      

           หมายเหตุ   การโฆษณาที่มีรูปแบบต่างจากนี้ ถือว่าเป็นการโฆษณาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา

                             แต่หากต้องการเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาที่ต่างจากนี้ โดยเนื้อหาโฆษณายังคงลักษณะที่ไม่เป็นการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร

           ท่านสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอเพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายมิได้จำกัดไว้

 

 

​ฉลากอาหารต้องมีรายละเอียดถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่ได้รับอนุญาตไว้ และ/หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ/ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

                 

            

รายการ

DOC

PDF

 

หนังสือแจ้งความประสงค์จะโฆษณาอาหาร

doc.png pdf.png