โครงการส่งเสริมการส่งออกอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ประจำปี 2565
ก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสู่สากล
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส-2019 (Covid-19) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้รายได้หลักของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอาหาร ข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2562 เป็นต้นมา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 2.2 และในปี พ.ศ. 2563 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์ดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองอาหาร และกองความร่วมมือระหว่างประเทศจึงได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจการส่งออกของประเทศไทยด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ได้คุณภาพมาตรฐานของประเทศคู่ค้า เสริมสร้างองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนภาคการส่งออกของธุรกิจอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และพัฒนาฐานข้อมูลส่งเสริมการส่งออก รวมไปถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และต่อยอดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งนี้ การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ผ่านมามีการศึกษากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีศักยภาพไปยังต่างประเทศ เช่น การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศลาว และกัมพูชา การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาไปยังประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
การดำเนินงานสนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้โครงการฯ
ในปี 2565 กองอาหาร และกองความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการส่งออกอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประจำปี พ.ศ. 2565 ทั้งนี้มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 68 แห่ง ครอบคลุม 12 เขตบริการสุขภาพ โดยมีจำนวนผลิตภัณฑ์เข้าร่วมกว่า 86 ผลิตภัณฑ์ โดยกิจกรรมที่ได้ดำเนินการดังนี้
- การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และจัดกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการตีความพิกัดศุลกากร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมศุลกากรในการพิจารณาและตีความพิกัดที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการส่งออกที่ถูกต้อง ลดการผิดพลาดในการดำเนินงาน
- การหารือความร่วมมือร่วมกับสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนและขยายช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังตลาดต่างประเทศ แผนการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดของงานแสดงสินค้าและแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การจัดทำระบบการประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ (Health products export readiness assessment) โดยกองความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมในการส่งออกของผู้ประกอบการในมิติต่างๆ และเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลสนับสนุนการส่งออกไปยังต่างไปประเทศ ทั้งนี้ได้ใช้ระบบการประเมินความพร้อมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการประเมินศักยภาพการส่งออกในแต่ละสถานประกอบการ
- การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสู่การส่งออก ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank), สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กรมศุลกากร, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวมไปถึงการให้ความรู้ในด้านธุรกิจการส่งออกผ่านระบบออนไลน์ เช่น Thaitrade.com แพลตฟอร์มออนไลน์ Alibaba รวมไปถึงเว็บไซต์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกทั้งยังได้มีการสรุปการวิเคราะห์ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศปลายทางที่น่าสนใจเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของผู้ประกอบการต่อไป
ภาพแสดงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสู่การส่งออกผ่านช่องทางออนไลน์ - การพัฒนา/จัดทำฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยบนเว็บไซต์ รวมทั้งการจัดทำเนื้อหาและช่องทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งออกได้ อาทิ ข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ การเพิ่มช่องทางเข้าถึงเอกสารที่ใช้ในการส่งออก คู่มือการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย ระบบการประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการอีกทั้งยังมี TBT Notification รวมทั้งช่องทางแจ้งปัญหาอุปสรรคทางการค้า ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงปัญหาของผู้ประกอบการและดำเนินการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบได้
- การลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการส่งเสริมการส่งออก โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ที่เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในการส่งออกอย่างเข้มแข็ง เช่น จังหวัดลพบุรี ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัดและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำแนวทางพัฒนาการดำเนินงานสู่ความสำเร็จในพื้นที่มาต่อยอดการดำเนินงานในจังหวัดอื่น ๆ ได้
ภาพการลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการส่งเสริมการส่งออก ณ จังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2565 มีผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าร่วมโครงการสามารถส่งออกได้ ร้อยละ 40.69 โดยมีการส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายให้เกิดมูลค่าการส่ง ออกเทียบกับมูลค่าการส่งออกในปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.20
ปัจจัยที่ทำให้โครงการเข้าสู่ความสำเร็จ
ความร่วมมือกันช่วยขับเคลื่อนภารกิจงานตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และการเข้าถึงปัญหาของผู้ประกอบการผ่านช่องทางการให้คำแนะนำออนไลน์ ถือเป็นการสร้างช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถสะท้อนปัญหาในการส่งออกให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและประสานหาแนวทางการแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่ผู้ประกอบการพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพและเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความพร้อมสู่การส่งออก และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความสำเร็จและจากประเด็นปัญหาของสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการอบรมฯ เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการสู่ความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก ไม่สามารถดำเนินการได้ในหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการบูรณาการงานและส่งต่อข้อมูลอันมีประโยชน์ไปยังผู้ประกอบการ และยังมีส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องพัฒนาต่อ เช่น การขาดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง การขาดเทคโนโลยีและการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เช่น แรงงานคน เครื่องมือเครื่องจักรที่ทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อออเดอร์ของลูกค้าต่างประเทศที่ต้องการ และที่สำคัญ คือ ความต้องการทางการตลาดที่จะช่วยสร้าง demand ของต่างประเทศ เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน
บทสรุปโครงการ และแผนการขับเคลื่อนการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพในอนาคต
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกองอาหาร และกองความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีแผนการดำเนินงานในอนาคตเพื่อต่อยอดการดำเนินงานในการสนับสนุนผู้ประกอบการวางแผนเจรจากับหน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศ (Government to Government: G to G) รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยบนเว็บไซต์ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยังประเทศปลายทาง โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานเว็บไซต์ส่วนส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product; GDP) ของประเทศด้วยการทำให้เม็ดเงินรายได้ในส่วนของการส่งออกเติบโตอีกด้วย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังต่างประเทศ หรือพบประเด็นปัญหาในการส่งออกสามารถแจ้งปัญหาอุปสรรคหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางช่องทาง
- สายด่วน อย. 1556
- งานหนังสือรับรองเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร กองอาหาร 02-590-7177
- กองความร่วมมือระหว่างประเทศ 02-590-7286