ตามที่สำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศมีรายงานเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนความปลอดภัยของ “แอสพาร์เทม” ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ในเครื่องดื่มและอาหารอย่างแพร่หลาย นั้น คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives: JECFA) ได้พิจารณาข้อมูลด้านพิษวิทยาและประเมินความเสี่ยงของแอสพาร์เทมแล้ว สรุปว่า “แอสพาร์เทม (Aspartame; INS 951) ยังคงมีความปลอดภัยสำหรับการใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม โดยยืนยันค่าความปลอดภัย (Acceptable Daily Intake; ADI) เดิมในปี ค.ศ. 1981 ที่กำหนดไว้เท่ากับ 0–40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน [คนที่มีน้ำหนัก 60 กก. จะสามารถได้รับแอสพาร์เทมเจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มได้ไม่เกินวันละ 2,400 มก.]” ดังนั้น มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) จึงยังคงข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้ในอาหารต่าง ๆ ไว้ตามมาตรฐานทั่วไปสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ General Standard For Food Additive (CODEX 192-1995)
สำหรับประเทศไทย อย. มีการประเมินความปลอดภัยเพื่อกำหนดเงื่อนไขการใช้แอสพาร์เทม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร โดยพิจารณาจากรูปแบบการบริโภคของประชากรไทย ซึ่งอ้างอิงข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล (โคเด็กซ์) และปรับเงื่อนไขการอนุญาตให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของไทย อีกทั้ง อย.มีการเฝ้าระวังโดยสุ่มตรวจสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด
ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค
- ควรเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับแอสพาร์เทมเกินค่าความปลอดภัย โดยอาจพิจารณาข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีการระบุ “สารให้ความหวาน (แอสพาร์เทม)” หรือ “วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล (แอสพาร์เทม)”
- สำหรับผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรีย ควรหลีกเลี่ยงแอสพาร์เทม
ข่าวเผยแพร่ “อย. เผย “แอสพาร์เทม” ยังคงมีความปลอดภัย ใช้ได้ตามเงื่อนไขที่ อย.อนุญาต”