กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีกำหนดรายชื่อไว้ในบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการตรวจวิเคราะห์อาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค มีแนวทางการพิจารณาเกณฑ์คุณภาพด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวอย่างไร
26 มิถุนายน 2566

ตอบ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสามารถพิจารณาแนวทางตามประเภทอาหาร ดังนี้

  • อาหารที่ข้อ 4 ของประกาศฯดังกล่าวกำหนดยกเว้นไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ วัตถุเจือปนอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคตามประกาศเฉพาะเรื่อง
  • วัตถุแต่งกลิ่นรส  พิจารณาตามข้อกำหนดคุณภาพและลักษณะของผลิตภัณฑ์ (product specification) ตามความเหมาะสม โดยสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้องเป็นสารที่ให้ใช้สำหรับอาหาร สารแต่งกลิ่นรสที่ใช้ต้องมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives; JECFA) หรือมีรายชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีของ FEMA (Flavor & Extract Manufacturers' Association) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตวัตถุแต่งกลิ่นรส
  • ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เช่น น้ำมันถั่วลิสง, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว,  น้ำมันและไขมัน,  เกลือบริโภค, น้ำปลา, น้ำส้มสายชู และอาหารทั่วไปอื่นๆ พิจารณาตามความเหมาะสมตามความเสี่ยงด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ เช่น ลักษณะผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต วิธีการเก็บรักษา และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค  โดยอาจกำหนดเป็นข้อกำหนดคุณภาพและลักษณะของผลิตภัณฑ์ (product specification) สำหรับคู่ค้า

           ทั้งนี้ เมื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่กำหนดรายชื่อไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 ของประกาศฯ  ต้องไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายนั้นมีคุณภาพหรือมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

link.png    การตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ตาม ปสธ. (ฉบับที่ 416)