มีหลักการกำหนดค่า ML ของสารปนเปื้อนในอาหารตามประกาศฯ ฉบับที่ 414 อย่างไร
25 กรกฎาคม 2566

คำตอบ การกำหนดค่า ML ของสารปนเปื้อนในอาหารตามประกาศฯ ฉบับที่ 414 มีหลักการ ดังนี้

    1. สารปนเปื้อนแต่ละชนิดมีค่า ML ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของอาหาร
    2. ประเภทหรือชนิดของอาหารที่มีการกำหนดค่า ML ไว้ เป็นอาหารซึ่งพบปัญหาการปนเปื้อนในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณาตามหลักการของ Codex ทั้งนี้อาหารที่ยังไม่ได้กำหนดค่า ML ไว้ อาจเพราะพบการปนเปื้อนในระดับต่ำมาก หรือกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดค่าเพิ่มเติม
    3. ค่า ML ที่กำหนดสำหรับอาหารแต่ละชนิดจะเป็นปริมาณต่ำที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักการ As Low As Reasonably Achievable หรือ ALARA ซึ่งต้องสามารถลดปริมาณการได้รับสัมผัสของสารปนเปื้อนจากอาหารลงได้ โดยไม่ส่งผลให้ต้องมีการทำลายสินค้ามากจนส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารหรือปัญหาความมั่นด้านอาหาร (Food Security)
    4. ไม่ได้กำหนดค่า ML ของสารปนเปื้อนในอาหารทุกชนิด ยกเว้นสารปนเปื้อน คือ ดีบุก ตะกั่ว ปรอท สารหนู และแอลฟลาทอกซิน ที่เคยมีค่า ML กำหนดไว้ในอาหารทุกชนิดอยู่เดิม คือ

4.1 ดีบุก ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม

4.2 ตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม 

4.3 ปรอท ไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม 

4.4 สารหนูทั้งหมดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม 

4.5 แอลฟลาทอกซินทั้งหมด ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม 

           ทั้งนี้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนทั้ง 5 ชนิดนี้ในอาหารทุกชนิด หากพิจารณาจากข้อมูลวิชาการแล้วเห็นว่าวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตอาหารนั้นไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ซึ่งค่าที่กำหนดไว้นี้เป็นเสมือนค่าระดับสูงสุดทั่วไปสำหรับอาหารที่ไม่มีค่า ML กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการนำวัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพมาใช้เป็นส่วนประกอบ

 

link.png   มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน