กรณีผู้ประกอบการมีความประสงค์ใช้สถานที่ผลิต และเครื่องมือเครื่องจักร ที่ผลิตอาหารประเภทอื่น ร่วมกันกับ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงทำได้หรือไม่
10 สิงหาคม 2566

ตอบ   สามารถกระทำได้ โดยมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการผลิตอาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา หรือกัญชง และอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของส่วนกัญชงหรือกัญชาพิจารณาเป็นกรณี ดังนี้

1. กรณีใช้สถานที่ผลิตร่วมในที่เดียวกัน แต่มีหลายสายงานผลิตและอุปกรณ์เครื่องจักรสามารถแยกกันได้ อาจแยกสายงานผลิตอาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ออกจากสายงานผลิตอาหารที่ไม่มีส่วนของกัญชาหรือกัญชง

2. กรณีใช้สถานที่ผลิตร่วม ประสงค์จะใช้สายการผลิตและอุปกรณ์ร่วมกัน ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเภทอาหารที่จะผลิตรวมกันนั้น เช่น เดิมได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารประเภท เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ต่อมาต้องการเพิ่มประเภทการผลิตเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง ต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างการผลิต แล้วแต่กรณีตามความจำเป็น ได้แก่

a. การกำหนดช่วงเวลาการผลิตที่แตกต่างกันคนละเวลา โดยมีแผนการผลิตที่ชัดเจน

b. มีมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องของการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต มีวิธีการขั้นตอน หรือ เอกสารที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถอ่านและเข้าใจได้

c. มีวิธีการทวนสอบประสิทธิภาพหลังการทำความสะอาด ภายหลังการผลิต เช่น การใช้ชุดทดสอบ (TEST KIT) swab test, allergen test ภายหลังการทำความสะอาดพร้อมบันทึกผล

d. การสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชงหรือกัญชา ตรวจหาการปนเปื้อน สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) และ/หรือ สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ณ ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรอง เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการติดตามตรวจสอบโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังการอนุญาต

          ทั้งนี้ ทั้งสองกรณีให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารโดยเคร่งครัด

 

link.png   ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา/กัญชง --> สถานที่ผลิตอาหาร