หลักเกณฑ์ / ข้อกำหนด - ฉลาก - การแสดงฉลากอาหารและตัวอย่างฉลากอาหาร
13 พฤศจิกายน 2566

 ex-foodlabeling.gif

​คลิกดูตัวอย่างการแสดงฉลากอาหาร

 

การแสดงฉลากอาหาร

   1. ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดนิยาม

              “ฉลาก” หมายความรวมถึงรูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร

             “ภาชนะบรรจุ” หมายความว่า วัตถุที่ใช้บรรจุอาหารไม่ว่าด้วยการใส่หรือห่อหรือด้วยวิธีใด ๆ

 

   2. อาหารที่ต้องมีฉลาก 

            กรณีการแสดงฉลากอาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค   ของอาหารกลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 กรณีการแสดงฉลากที่มิได้จําหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค แต่จําหน่ายให้กับผู้ปรุงหรือผู้จําหน่ายอาหาร กรณีการแสดงฉลากอาหารที่ไม่ได้จําหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค และกรณีการแสดงฉลากของอาหารที่ผลิตเพื่อส่งออกต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง  

หมายเหตุ :   อาหารกลุ่ม 1 หมายถึง อาหารควบคุมเฉพาะ  
                   อาหารกลุ่ม 2 หมายถึง อาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน
                   อาหารกลุ่ม 3 หมายถึง อาหารที่ต้องมีฉลาก 
                   อาหารกลุ่ม 4 หมายถึง อาหารทั่วไป (อาหารอื่นนอกจากอาหารกลุ่ม 1-3) 

ศึกษารายละเอียดการจัดประเภทอาหาร

 

   3. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากของอาหาร​

                     3.1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการกำหนดการแสดงฉลากเป็นการเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ

                     3.2 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 (ฉบับที่ 383) พ.ศ.2560 (ฉบับที่ 401) พ.ศ.2562 และ (ฉบับที่ 410) พ.ศ.2562 เป็นการให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้บริโภค ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดที่ต้องแสดงไว้บนฉลากอาหาร เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า หรือสำนักงานใหญ่ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก ส่วนประกอบที่สำคัญ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ เป็นต้น  พร้อมทั้งมีการกำหนดตำแหน่งข้อความ สี และขนาดตัวอักษร เพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตและอ่านได้ง่าย

                     3.3 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts; GDAs) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 394) พ.ศ. 2561 เป็นการแสดงปริมาณและปริมาณสูงสุดเป็นร้อยละของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่บริโภคได้ต่อวัน ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ บนฉลากอาหารบางชนิดเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และสนับสนุนมาตรการป้องกันด้านโภชนาการ กำหนดให้อาหารดังต่อไปนี้เป็นอาหารที่ต้องแสดงฉลากแบบจีดีเอ

                              (1) อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ สาหร่ายทอดหรือปรุงรส

                              (2) ช็อกโกแลต และขนมหวานรสช็อกโกแลต

                              (3) ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้

                              (4) อาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง

                              (5) อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอด ระยะเวลาจำหน่าย

                              (6) เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีหรือทำจากผลไม้ พืชหรือผัก หรือส่วนผสมที่ไม่ใช่ผลไม้ พืชหรือผัก ไม่ว่าจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือออกซิเจนผสมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่นำมาปรุงแต่งรสในลักษณะ พร้อมบริโภค ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง

                              (7) ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง

                              (8) กาแฟปรุงสำเร็จทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง

                              (9) นมปรุงแต่ง

                             (10) นมเปรี้ยว

                             (11) ผลิตภัณฑ์ของนม

                             (12) น้ำนมถั่วเหลือง

                             (13) ไอศกรีมที่อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภค

                     3.4 ประกาศฯ อื่นที่เกี่ยวข้อง  เช่น

                           3.4.1 ประกาศกระทรวงสาธาณสุขว่าด้วย เรื่อง ฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 กำหนดให้อาหารดังต่อไปนี้เป็นอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ

                             (1) อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ

                             (2) อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย

                             (3) อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขาย

                             (4) อาหารอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร

                            3.4.2 กรณีการแสดงรูปภาพส่วนประกอบและการแสดงข้อความ ต้องเป็นไปตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ 343/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์การแสดงรูปภาพส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารบนฉลากอาหาร

                            3.4.3 กรณีมีการแสดงข้อความกรือเครื่องหมายรับรอง ต้องมีการแสดงตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การแสดงข้อความหรือเครื่องหมายการได้รับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร เป็นต้น

รายละเอียดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลาก

 

   4. รายละเอียดสำคัญที่ต้องแสดงบนฉลาก มีดังนี้

                     4.1 ชื่ออาหาร

                     4.2 เลขสารบบอาหาร   การแสดงเลขสารบบอาหาร หมายถึง การแสดงเครื่องหมายหรือรูปแบบของอาหารที่ได้รับอนุญาต ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร อนุญาตใช้ฉลากอาหาร จดทะเบียนอาหาร หรือแจ้งรายละเอียดของอาหารแล้ว ประกอบด้วยเครื่องหมาย 2023-04-12_165453.jpgและเลขสารบบอาหารโดยเลขสารบบอาหาร ประกอบด้วยตัวเลข 13 หลักที่แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งแสดงถึงสถานที่ผลิตอาหารหรือสถานที่นำเข้าอาหารแล้วแต่กรณี หน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต และลำดับที่ของอาหาร

 

2023-04-12_165556.jpg

               ตัวเลขในกลุ่มที่ 1 (XX) ประกอบด้วย ตัวเลข 2 หลัก แสดงถึง จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ผลิตอาหารหรือนำเข้าอาหาร โดยใช้ตัวเลขแทนอักษรย่อของจังหวัด

 

                ตัวเลขในกลุ่มที่ 2 (X) ประกอบด้วย ตัวเลข 1 หลัก แสดงถึง สถานะของสถานที่ผลิตอาหารหรือนำเข้าอาหารและหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต ดังนี้

หมายเลข 1 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต

หมายเลข 2 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งจังหวัดเป็นผู้อนุญาต

หมายเลข 3 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต

หมายเลข 4 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหาร ซึ่งจังหวัดเป็นผู้อนุญาต

 

                 ตัวเลขในกลุ่มที่ 3 (XXXXX) ประกอบด้วย ตัวเลข 5 หลัก โดยตัวเลข 3 หลักแรก คือ เลขสถานที่ผลิตอาหารหรือเลขสถานที่นำเข้าอาหารแล้วแต่กรณี และตัวเลข 2 หลักสุดท้าย คือ ตัวเลข 2 หลักสุดท้ายของปีพุทธศักราชที่ได้รับอนุญาต

 

                 ตัวเลขในกลุ่มที่ 4 (Y) ประกอบด้วย ตัวเลข 1 หลัก แสดงถึง หน่วยงานที่ออกเลขสารบบอาหาร ดังนี้

หมายเลข 1 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย.

หมายเลข 2 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากจังหวัด

หมายเลข 3 หมายถึง อาหารส่งออกโดยไม่จำหน่ายในประเทศได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย.

หมายเลข 4 หมายถึง อาหารส่งออกโดยไม่จำหน่ายในประเทศได้รับเลขสารบบอาหารจากจังหวัด

หมายเลข 5 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย. ผ่านอินเทอร์เน็ต

หมายเลข 6 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากจังหวัด ผ่านอินเทอร์เน็ต”

 

                  ตัวเลขในกลุ่มที่ 5 (YYYY) ประกอบด้วย ตัวเลข 4 หลัก แสดงถึง ลำดับที่ของอาหารที่ผลิต โดยสถานที่ผลิตอาหาร หรือสถานที่นำเข้าอาหารแต่ละแห่ง โดยแยกแต่ละหน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต โดยแสดงเครื่องหมายดังรูป และตัวเลขสูงไม่น้อยกว่า 2 มม. สีตัดกับสีของกรอบ และสีของกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก

 

                  4.3 ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า หรือสำนักงานใหญ่ (แล้วแต่กรณี) โดยมีข้อความดังต่อไปนี้กำกับด้วย

                        4.3.1 ข้อความว่า “ผู้ผลิต” หรือ “ผลิตโดย” สำหรับกรณีเป็นผู้ผลิต

                        4.3.2 ข้อความว่า “ผู้แบ่งบรรจุ” หรือ “แบ่งบรรจุโดย” สำหรับกรณีเป็นผู้แบ่งบรรจุ

                        4.3.3 ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” สำหรับกรณีเป็นผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ที่ประสงค์จะแสดงชื่อและที่ตั้ง ของสำนักงานใหญ่

                  4.4 ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก

                        4.4.1 อาหารที่มีลักษณะของแข็ง  ให้แสดงน้ำหนักสุทธิ

                        4.4.2 อาหารที่มีลักษณะของเหลว  ให้แสดงปริมาตรสุทธ

                        4.4.3 อาหารที่มีลักษณะครึ่งแข็งครึ่งเหลว  หรือลักษณะอื่นให้แสดงน้ำหนักสุทธิ

                  4.5 ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปน้อย

                  4.6 ข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกิน โดยมีข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : มี.......” หรือ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : อาจมี......” กรณีมีการใช้เป็นส่วนประกอบ หรือมีการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ดังนี้

                         4.6.1 ธัญพืชที่มีกลูเตน ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต สเปลท์ หรือสายพันธุ์ลูกผสมของธัญพืชดังกล่าว และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่มีกลูเตนดังกล่าวยกเว้น กลูโคสไซรัป หรือเดกซ์โทรสที่ได้จากข้าวสาลี มอลโทเดกซ์ทริน จากข้าวสาลี กลูโคสไซรัป จากข้าวบาร์เล่ย์ และ แอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่นเมล็ดธัญพืช

                         4.6.2 สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง กั้ง ลอบเสตอร์ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง

                         4.6.3 ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่

                         4.6.4 ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา

                         4.6.5 ถั่วลิสง และผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง

                         4.6.6 ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองยกเว้น น้ำมันหรือไขมันจากถั่วเหลืองที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์  โทโคเฟอรอลผสม, ดี - แอลฟา - โทโคเฟอรอล, หรือ ดีแอล - แอลฟา - โทโคเฟอรอล หรือ ดี - แอลฟา - โทโคเฟอริลแอซีเทต, หรือ ดีแอล - แอลฟา - โทโคเฟอริลแอซีเทต หรือ ดี - แอลฟา - โทโคเฟอริลแอซิดซักซิเนต ที่ได้จากถั่วเหลือง ไฟโตสเตอรอล และไฟโตสเตอรอลเอสเตอร์ที่จากน้ำมันถั่วเหลือง และ สตานอลเอสเตอร์จากพืชที่ผลิตจาก สเตอรอลของน้ำมันพืชที่ได้จากถั่วเหลือง

                         4.6.7 นม และผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงแลคโตส

                         4.6.8 ถั่วที่มีเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากถั่วที่มีเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ วอลนัท พีแคน เป็นต้น

                         4.6.9 ซัลไฟต์ที่มีปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

กรณีที่ไม่แสดงข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร” อาจแสดงข้อความว่า “มี..............” หรือ “อาจมี.................” ไว้ในกรอบ โดยสีของตัวอักษรต้องตัดกับสีพื้นของกรอบและสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก ต้องไม่เล็กกว่าตัวอักษรที่แสดงส่วนประกอบ และต้องแสดงไว้ที่ด้านล่างของการแสดงส่วนประกอบด้วย  เช่น

ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือ  2023-04-12_165631.jpg

ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : อาจมีถั่วลิสง หรือ  2023-04-12_165646.jpg

 

          ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับกับอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกินเป็นส่วนประกอบสำคัญและมีการแสดงชื่ออาหารที่ระบุชื่อสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกินไว้ชัดเจนแล้ว

              4.7. การแสดงชื่อเฉพาะและกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหาร กรณีมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องมีการแสดงรายละเอียดข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร ดังนี้

                         4.7.1 สำหรับสี แสดงข้อความ “สีธรรมชาติ” หรือ “สีสังเคราะห์” ตามด้วยชื่อเฉพาะ หรือ INS Number (International Numbering System: INS for Food Additives) เช่น สีธรรมชาติ (INS 160 a (ii)),   สีสังเคราะห์ : ทาร์ทาซีน

                         4.7.2 สำหรับวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร และวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล แสดงชื่อกลุ่มหน้าที่วัตถุเจือปนอาหาร ตามด้วยชื่อเฉพาะ เช่น วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล (แอสปาแตม)  วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร (โมโนโซเดียม กลูตาเมต)

                         4.7.3 สำหรับวัตถุกันเสีย แสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับ INS Number (International Numbering System: INS for Food Additives) เช่น วัตถุกันเสีย (โซเดียม เบนโซเอท) วัตถุกันเสีย (INS202) `

                         4.7.4 สำหรับวัตถุเจือปนอาหารอื่น แสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับ INS Number หรือ อาจแสดงข้อความว่า “วัตถุเจือปนอาหาร” แทนชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือร่วมกับ INS Number เช่น สารควบคุมความเป็นกรด (กรดซิตริก)  หรือ สารควบคุมความเป็นกรด (Ins 330) หรือ วัตถุเจือปนอาหาร (กรดซิตริก) หรือ วัตถุเจือปนอาหาร (Ins 330)  

                  4.8 แสดงวัน/เดือน/ปี หมดอายุหรือควรบริโภคก่อน โดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ”กำกับ

                  4.9 ระบุการแต่งกลิ่นรส โดยมีข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี

                  4.10 คำเตือน (ถ้ามี)

                  4.11 ข้อแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)

                  4.12 วิธีปรุงเพื่อรับประทาน (ถ้ามี)

                  4.13 วิธีการใช้และข้อความที่จำเป็นสำหรับอาหารที่มุ่งหมายจะใช้กับทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลกลุ่มใดโดยเฉพาะ

                  4.14 ข้อความที่กำหนดเพิ่มเติมตามบัญชีแนบท้าย เช่น กรณีมีวัตถุที่ใช้เพื่อรักษาคุณภาพหรือมาตรฐานของอาหารบรรจุ รวมอยู่ในภาชนะบรรจุอาหารและจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค ต้องแสดงข้อความ “มี.... ” (ความที่เว้นไว้ให้ระบุลักษณะของการบรรจุและชนิดของวัตถุที่ใช้เพื่อรักษาคุณภาพหรือมาตรฐานของอาหาร เช่น “มีซองวัตถุกันชื้น” “มีซองวัตถุดูดออกซิเจน” เป็นต้น) ด้วยตัวอักษรสีแดง ขนาดตัวอักษรไม่ต่ากว่า 3 มิลลิเมตร บนพื้นสีขาว

                 4.15 ข้อความที่ต้องมีสำหรับอาหารที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 ลิงค์ดูประกาศกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง

 

ประกาศกระทรวงฯ ที่เกี่ยวกับการแสดงฉลากของอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและอาหารที่ต้องมีฉลาก

   1. อาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน (37 ประเภท)

ประเภทอาหาร

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

1. เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท   

(ฉบับที่ 356) พ.ศ.2556 และ (ฉบับที่ 402) พ.ศ.2562

2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  

(ฉบับที่ 293) พ.ศ.2548, (ฉบับที่ 309) พ.ศ.2550, (ฉบับที่ 405) และ (ฉบับที่ 411) พ.ศ.2562

3. อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

(ฉบับที่ 355) พ.ศ.2556

4. นมโค

(ฉบับที่ 350) พ.ศ.2556 และ (ฉบับที่ 406) พ.ศ.2562

5. นมเปรี้ยว

(ฉบับที่ 353) พ.ศ.2556

6. ไอศกรีม

(ฉบับที่ 354) พ.ศ.2556

7. นมปรุงแต่ง

(ฉบับที่ 351) พ.ศ.2556 และ (ฉบับที่ 407) พ.ศ.2562

8. ผลิตภัณฑ์ของนม

(ฉบับที่ 352) พ.ศ.2556 และ (ฉบับที่ 408) พ.ศ.2562

9. รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี

(ฉบับที่ 294) พ.ศ.2548

10. เครื่องดื่มเกลือแร่ 

(ฉบับที่ 195) พ.ศ.2543 และ ฉบับปี พ.ศ.2554 (322)

11. กาแฟ

(ฉบับที่ 197) พ.ศ.2543, (ฉบับที่ 276) พ.ศ.2546 และ ฉบับปี พ.ศ.2554 (330)

12. น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

ฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524), ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534), ฉบับที่ 220 (พ.ศ.2544) ฉบับที่ 256 (พ.ศ.2545) ฉบับที่ 284 (พ.ศ.2547) และ ฉบับปี พ.ศ.2553 (316)

13. น้ำแข็ง

ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527), ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534), ฉบับที่ 254 (พ.ศ.2545) และฉบับที่ 285 (พ.ศ.2547)

14. ชา

(ฉบับที่ 196) พ.ศ.2543, (ฉบับที่ 277) พ.ศ.2546 และ ฉบับปี พ.ศ.2554 (329)

15. น้ำปลา

(ฉบับที่ 203) พ.ศ.2543, ฉบับปี พ.ศ.2553 (323) และ (ฉบับที่ 403) พ.ศ.2562

16. น้ำแร่ธรรมชาติ

(ฉบับที่ 199) พ.ศ.2543

17. น้ำส้มสายชู

(ฉบับที่ 204) พ.ศ.2543

18. น้ำมันและไขมัน

(ฉบับที่ 421) พ.ศ.2564

19. น้ำมันปลา

(ฉบับที่ 422) พ.ศ.2564

20. ครีม

(ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543

21. น้ำมันเนย

(ฉบับที่ 206) พ.ศ.2543

22.  เนย

(ฉบับที่ 227) พ.ศ.2524

23. เนยแข็ง

(ฉบับที่ 209) พ.ศ.2543

24. เนยใสหรือกี

(ฉบับที่ 206) พ.ศ.2544

25. เนยเทียม เนยผสม ผลิตภัณฑ์เนยเทียม และผลิตภัณฑ์เนยผสม

(ฉบับที่ 348) พ.ศ.2555

26. อาหารกึ่งสำเร็จรูป

(ฉบับที่ 210) พ.ศ.2543

27. ซอสบางชนิด

(ฉบับที่ 201) พ.ศ.2543

28. น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

(ฉบับที่ 198) พ.ศ.2543

29. ช็อกโกแลต

(ฉบับที่ 83) (พ.ศ.2527) และฉบับปี พ.ศ.2554 (327)

30. แยม เยลลี มาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิสนิท

(ฉบับที่ 213) พ.ศ.2543

31. ไข่เยี่ยวม้า

(ฉบับที่ 236) พ.ศ.2544

32. ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง

ฉบับปี พ.ศ.2553 (317), ฉบับปี พ.ศ.2553 (322) และ (ฉบับที่ 404) พ.ศ.2562

33. น้ำผึ้ง

(ฉบับที่ 211) พ.ศ.2543

34. เกลือบริโภค

ฉบับปี พ.ศ.2554 (333)

35. ข้าวเติมวิตามิน

(ฉบับที่ 150) พ.ศ.2536

36. น้ำเกลือปรุงอาหาร

(ฉบับที่ 44) พ.ศ.2523

37. ชาจากพืช

(ฉบับที่ 426) พ.ศ.2564

 

   2. อาหารที่ต้องมีฉลาก (11 ประเภท)

ประเภทอาหาร

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

1. แป้งข้าวกล้อง

(ฉบับที่ 44) พ.ศ.2523

2. ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

(ฉบับที่ 200) พ.ศ.2543

3. ขนมปัง

(ฉบับที่ 224) พ.ศ.2544

4. หมากฝรั่งและลูกอม

(ฉบับที่ 228) พ.ศ.2544

5. วุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี่

(ฉบับที่ 100) พ.ศ.2529 และ (ฉบับที่ 263) พ.ศ.2545

6. ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

(ฉบับที่ 243) พ.ศ.2544

7. วัตถุแต่งกลิ่นรส

(ฉบับที่ 223) พ.ศ.2544

8. อาหารพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที

(ฉบับที่ 237) พ.ศ.2544

9. อาหารฉายรังสี

ฉบับปี พ.ศ.2553 (325)

10. อาหารทั่วไปที่เป็นอาหารดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม

(ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545

11. อาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ

(ฉบับที่ 238) พ.ศ.2544 และ (ฉบับที่ 357) พ.ศ.2556