การขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร
7 พฤศจิกายน 2566

next.png   สถานที่ผลิตอาหาร

ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ความว่า...

“ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

สถานที่ผลิตอาหาร เป็นสถานที่ที่ใช้ในการผลิตและการจัดการเกี่ยวกับอาหารตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรับและจัดเก็บวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ จนถึงการแปรรูปเป็นสินค้า รวมถึงการแบ่งบรรจุสินค้าเพื่อกระจายไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. สถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน เป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตอาหาร รวมต่ำกว่า 50 แรงม้า และใช้คนงานรวมต่ำกว่า 50 คน  

"ผู้ประกอบการจะได้รับใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1/1)"

2. สถานที่ผลิตอาหารที่เข้าข่ายโรงงาน เป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตอาหาร รวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป  

"ผู้ประกอบการจะได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2)"

menu.png   การเตรียมความพร้อมสถานที่ผลิตอาหารก่อนการขออนุญาต

          การผลิตอาหารจะต้องมีการจัดการสถานที่ผลิตอาหารและกระบวนการผลิตให้มีความเหมาะสม เพื่อให้อาหารที่ผลิตมีความสะอาด ปลอดภัย และเกิดความมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยสถานที่ผลิตอาหารทั้งที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายโรงงานจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร หรือ GMP 420 ซึ่งแบ่งข้อกำหนดออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ข้อกำหนดพื้นฐาน บังคับใช้กับการผลิตอาหารทุกประเภท

2. ข้อกำหนดเฉพาะ เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่มีการผลิตอาหารที่มีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะและมีความเสี่ยงสูง ได้แก่

        • ข้อกำหนดเฉพาะ 1 การผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ และน้ำแข็งบริโภค ที่ผ่านกรรมวิธีการกรอง
        • ข้อกำหนดเฉพาะ 2 การผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอไรซ์
        • ข้อกำหนดเฉพาะ 3 การผลิตอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด ที่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยทำให้ปลอดเชื้อเชิงการค้า 

          (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ GMP 420 )

สำหรับสถานที่ผลิตเกลือบริโภคและสถานที่คัดและบรรจุผักและผลไม้สดบางชนิด ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GMP 420 แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ดังนี้

        • สถานที่ผลิตเกลือบริโภค ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 เรื่อง การขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร เพื่อจำหน่าย และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เกลือบริโภค ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GMP > เกลือบริโภค
        • สถานที่คัดและบรรจุผักและผลไม้สดบางชนิด ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักหรือผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลาก ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  GMP 386 

menu.png   ขั้นตอนการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 การขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร  

ขั้นตอนที่ 1 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ OPEN ID ที่เว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ศึกษารายละเอียดได้ที่ การเตรียมความพร้อมเข้าใช้งานระบบ e-Submission

ขั้นตอนที่ 2 เปิดสิทธิ์การใช้งานระบบ e-Submission และยื่นขอจัดทำฐานข้อมูลหลักผู้ประกอบการ (Master Data) โดยเตรียมเอกสารตาม "แบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่อง การขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตและเก็บอาหารฯ" 

ขั้นตอนที่ 3 ยื่นคำขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหารผ่านระบบ e-Submission และชำระเงินค่าคำขอตรวจประเมินเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์จำนวน 3,000 บาท 

ขั้นตอนที่ 4 การรับการตรวจประเมินและรายงานผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (Audit Report) มีขั้นตอนดังนี้

        • เจ้าหน้าที่ติดต่อนัดหมายกับผู้ประกอบการและเข้าตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร ตามหลักเกณฑ์ GMP
        • ผู้ประกอบการจะได้รับผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (Audit Report) เมื่อสถานที่ผลิตอาหารที่ผ่านการตรวจประเมินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ GMP
        • ผู้ประกอบการชำระเงินส่วนต่างค่าตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (ถ้ามี) ผ่านระบบออนไลน์
        • รับรายงานผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิต (Audit report) รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

สถานที่ติดต่อ

      • กรณีสถานที่ผลิตอาหารตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ยื่นเอกสารได้ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรี
      • กรณีสถานที่ผลิตอาหารตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด ยื่นเอกสารได้ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ

 

ค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร

แรงม้าเครื่องจักรและจำนวนคนงาน

ค่าใช้จ่าย (บาท)

ไม่เกิน 5 แรงม้า และคนงาน 1-6 คน

3,000

มากกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 20 แรงม้า
หรือคนงาน 7-50 คน

5,000

มากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า
หรือคนงาน 51-100 คน

10,000

มากกว่า 50 แรงม้า แต่ไม่เกิน 100 แรงม้า
หรือคนงาน 101-200 คน

15,000

มากกว่า 100 แรงม้า
หรือคนงานมากกว่า 200 คน

20,000

 

ระยะเวลาดำเนินการ 10 วันทำการ ไม่นับรวมการแก้ไขเอกสารหลักฐานหรือปรับปรุงสถานที่ผลิตอาหาร 

 

ส่วนที่ 2 ขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร

ยื่นคำขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1) หรือคำขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1) แล้วแต่กรณี ผ่านระบบ e-Submission โดยเตรียมเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน และชำระเงินค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตอาหาร (เฉพาะใบอนุญาตผลิตอาหาร)

 

ค่าใช้จ่าย

1. ค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคำขอและการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร

รายละเอียดคำขอ

ค่าใช้จ่าย (บาท)

คำขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1)
รับใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ1/1)

1,000

คำขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1)
รับใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2)

2,000

  2. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เฉพาะใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2)

แรงม้าเครื่องจักรและจำนวนคนงาน

ค่าใช้จ่าย (บาท)

คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ไม่ใช้เครื่องจักร
หรือใช้เครื่องจักรไม่ถึง 2 แรงม้า 

5,000

คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
เครื่องจักรตั้งแต่ 2 แรงม้า แต่ไม่ถึง 10 แรงม้า 

6,000

คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
เครื่องจักรตั้งแต่ 10 แรงม้า แต่ไม่ถึง 25 แรงม้า 

7,000

คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
เครื่องจักรตั้งแต่ 25 แรงม้า แต่ไม่ถึง 50 แรงม้า 

8,000

คนงานน้อยกว่า 50 หรือมากกว่า 50 คน
เครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้า ขึ้นไป  

10,000

 

 ระยะเวลาดำเนินการ 6 วันทำการ ไม่นับรวมการแก้ไขเอกสารหลักฐาน

menu.png   หน้าที่ของผู้รับอนุญาตและข้อพึงปฏิบัติหลังได้รับอนุญาต

    1. ผู้รับอนุญาตจะต้องผลิตและจัดเก็บอาหารตามที่สถานที่ผลิตและเก็บอาหารที่ระบุไว้ในอนุญาต และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GMP กฎหมาย
    2. ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตอาหารซึ่งอาหารที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และต้องติดหรือจัดป้ายแสดงสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตไว้ภายนอกสถานที่ในที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย
    3. กรณีย้ายสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บอาหาร หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ผลิตหรือสถานที่จัดเก็บอาหารจะต้องแจ้งให้ทางผู้อนุญาตทราบ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน
    4. ใบอนุญาตผลิตอาหารที่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ อ.2) ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สามนับตั้งแต่ออกใบอนุญาต และผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน หากผู้ประกอบต้องการขอยกเลิกกิจการจะต้องยื่นคำขอกับผู้อนุญาต