ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย
25 กรกฎาคม 2566
คำตอบ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการตรวจสอบที่ไม่สามารถดำเนินการได้ 100% ดังนั้นการวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์สุดท้ายเพียงอย่างเดียวดังที่เคยปฏิบัติมาก่อนนั้น จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารได้ ดังนั้นการป้องกันปัญหาการปนเปื้อนด้วยการคัดเลือกวัตถุดิบตามหลัก GMPs ของผู้ผลิตอาหารจึงมีความสำคัญมาก
ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารควรปฏิบัติดังนี้
- ศึกษาเรียนรู้ระบบการวิเคราะห์อันตราย (hazard analysis) ทั้งทางด้านชีวภาพ ด้านกายภาพ ด้านทางเคมี ตั้งแต่วัตถุดิบ การเตรียมและการเก็บรักษาวัตถุดิบ กรรมวิธีผลิต ตลอดจนการเก็บรักษาและการขนส่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทราบชนิดของสารปนเปื้อน และแหล่งหรือขั้นตอนที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน
- ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องทบทวนคุณภาพมาตรฐาน (specification) ของผลิตภัณฑ์ (finished goods) หรือวัตถุดิบ (raw materials) แล้วแต่กรณี ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารชนิดหนึ่งอาจมีค่า ML สำหรับสารปนเปื้อนกำหนดไว้ทั้งในลักษณะผลิตภัณฑ์สุดท้ายและวัตถุดิบ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและชนิดของสารปนเปื้อน
กรณีที่สารปนเปื้อนกำหนดไว้สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร ผู้ผลิตอาหารต้องมีการตรวจสอบว่าวัตถุดิบนั้นมีปริมาณการปนเปื้อนเป็นไปตามกฏหมาย โดยอาจสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ หรือขอเอกสารข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (supplier)
- ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องตรวจสอบข้อมูลกับผู้ผลิตอาหารในต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่นำเข้ามีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่มีสารปนเปื้อนเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยอาจขอใบรับรอง (Letter of Confirmation) เกี่ยวกับสูตรส่วนประกอบ กระบวนการผลิต ข้อกำหนดคุณภาพ (Specification) หรือใบรับรองผลวิเคราะห์ (Certificate of Analysis) ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบที่ใช้จากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอาหารนำเข้านั้น มีการควบคุมวัตถุดิบให้มีสารปนเปื้อนเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย