ตอบ การที่ อย. ได้นำหลักเกณฑ์ GMP Codex มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และประกาศเป็นมาตรฐานบังคับใช้ตามกฎหมาย ให้ผู้ผลิตนำไปปฏิบัติและพัฒนาสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทัดเทียมสากล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6(7) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 โดยบังคับใช้กับอาหาร 57 ประเภทที่มีความพร้อมก่อน และต่อมาได้มีการประกาศบังคับใช้เพิ่มเติมกับอาหารอีกหลายประเภทเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารอีกหลายฉบับ ทำให้สถานที่ผลิตที่มีการผลิตอาหารหลายประเภท ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การบังคับใช้ที่แตกต่างกันในบางประเด็นทั้งที่อยู่ในหมวดข้อกำหนดเดียวกัน นอกจากนี้การใช้บันทึกการตรวจประเมินหลายฉบับทำให้เจ้าหน้าที่มีข้อจำกัดในการจัดทำบันทึกการตรวจประเมิน ดังนั้น อย. จึงได้ปรับปรุงข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ GMP ให้เป็นฉบับเดียวที่สามารถใช้ประเมินอาหารได้ทุกประเภทตามความเสี่ยงของอาหารที่ผลิต เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บันทึกการตรวจประเมิน พร้อมกับปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อกำหนดเพื่อยกระดับมาตรฐานให้สามารถลดปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิต และยกระดับการกำกับดูแลอาหารเชิงระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทัดเทียมข้อกำหนดสากล