ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ความว่า...
“ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าซึ่งอาหารเพื่อจำหน่าย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ขั้นตอนการขออนุญาตสถานที่นำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร
ระยะเวลาดำเนินการ 5 วันทำการ ไม่นับรวมการแก้ไขเอกสารหลักฐาน
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 15,000 บาท เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้อนุญาต และพิมพ์ใบอนุญาตรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Submission และต่ออายุใบอนุญาตทุก 3 ปี
>> ข้อสำคัญ <<
ในขั้นตอนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร “ผู้นำเข้า” จะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับรายละเอียดคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และเอกสารใบรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหารที่เทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ GMP 386 (ผักหรือผลไม้สดบางชนิด) หรือ GMP 420 (ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด) และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GMP (วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร) > การนำเข้า
หน้าที่ของผู้รับอนุญาตและข้อพึงปฏิบัติหลังได้รับอนุญาต
1. ผู้รับอนุญาตจะต้องจัดเก็บอาหารตามสถานที่เก็บอาหารที่ระบุไว้ในอนุญาต และต้องรักษาความสะอาดจัดให้มีแสงสว่างและการถ่ายเทอากาศเพียงพอตามความจำเป็นภายในสถานที่่เก็บอาหาร มีอุปกรณ์ในการเก็บและรักษาคุณภาพของอาหารแต่ละชนิดให้คงสภาพตามความจำเป็น มีจํานวนเพียงพอกับปริมาณของอาหารที่เก็บ และต้องแยกเก็บอาหารแต่ละชนิดเป็นสัดเป็นส่วน
2. ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่นำเข้าซึ่งอาหารที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และต้องติดหรือจัดป้ายแสดงสถานที่นำเข้าที่ได้รับอนุญาตไว้ภายนอกสถานที่ในที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย
3. กรณีย้ายสถานที่นำเข้าหรือสถานที่เก็บอาหาร หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นำเข้าหรือสถานที่จัดเก็บอาหารจะต้องแจ้งให้ทางผู้อนุญาตทราบ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน
4. ใบอนุญาตใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สามนับตั้งแต่ออกใบอนุญาต และผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน หากผู้ประกอบต้องการขอยกเลิกกิจการจะต้องยื่นคำขอกับผู้อนุญาต
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
- คู่มือสำหรับประชาชนประกอบการยื่นขออนุญาตสถานที่นำเข้าอาหาร
- เงื่อนไขคำรับรองและรายละเอียดประกอบการขออนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร
- ขั้นตอนการยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission
สถานที่ติดต่อ
- กรณีสถานที่นำเข้าจดทะเบียนสถานประกอบการที่กรุงเทพมหานคร ยื่นเอกสารได้ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรี
- กรณีสถานที่นำเข้าจดทะเบียนสถานประกอบการที่ต่างจังหวัด ยื่นเอกสารได้ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ