การขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อขอรับเลขสารบบอาหาร
ผู้ใดประสงค์ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อจำหน่าย หลังจากรับใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2) หรือใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ. 1/1) หรือใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร (แบบ อ.7) แล้ว ให้ดำเนินการยื่นคำขอรับเลขสารบบอาหาร กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายต้องขอรับเลขสารบบอาหาร ดังนี้
อาหารกลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ
อาหารกลุ่มที่ 2 อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน
อาหารกลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก
ทั้งนี้ อาหารกลุ่มที่ 4 อาหารทั่วไป ไม่บังคับต้องยื่นคำขอรับเลขสารบบอาหารก่อนการผลิตหรือนำเข้า แต่หากประสงค์ขอรับเลขสารบบอาหารแล้วจะต้องแสดงฉลากให้ถูกต้อง
ข้้นตอนการยื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์เพื่อขอรับเลขสารบบอาหาร
ดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนอาหาร/ คำขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร/ จดทะเบียนอาหาร/ แจ้งรายละเอียดอาหาร ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Submission) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา โดยมีขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ OPEN ID ที่เว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ศึกษารายละเอียดได้ที่ การเตรียมความพร้อมเข้าใช้งานระบบ e-Submission ขั้นตอนที่ 2 แจ้งความประสงค์ขอเปิดสิทธิ์เข้าใช้งานระบบอาหาร พร้อมแนบหลักฐานประกอบนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก การเปิดสิทธิ์เข้าใช้ระบบ ขั้นตอนที่ 3 เข้าใช้งานระบบอาหารเพื่อกรอกข้อมูลคำขออนุญาตผลิตภัณฑ์ผ่านระบบ e-Submission พร้อมแนบหลักฐาน หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบ (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเพจ ระบบ e-Submission ขั้นตอนที่ 4 ชำระเงินค่าคำขอ และ ติดตามสถานะการพิจารณาคำขอในระบบ กรณีเจ้าหน้าที่ขอคำชี้แจงเพิ่มเติม โปรดดำเนินการชี้แจงข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ขั้นตอนที่ 5 รับใบสำคัญฯ อิเล็กทรอนิกส์ ชำระเงินค่าธรรมเนียมใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร 5,000 บาท (เฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ) |
ศึกษารายละเอียดการยื่นคำขออนุญาตผลิตภัณฑ์
ระยะเวลาดำเนินการ - ค่าใช้จ่าย
หน้าที่ของผู้รับอนุญาตและข้อพึงปฏิบัติหลังได้รับอนุญาต
1. ต้องดำเนินการผลิตหรือนำเข้าอาหารให้สอดคล้องกับที่ได้รับอนุญาตไว้
2. ต้องรักษามาตรฐานการผลิตและคุณภาพหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องนั้น ๆ และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
3. การแสดงฉลากอาหาร ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขออนุญาต
4. การแสดงฉลากโภชนาการและค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลากโภชนาการและอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการและค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ
5. กรณีที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) ต้องผ่านการประเมินตามคู่มือสำหรับประชาชน เรื่อง การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) ก่อน
6. ต้องเก็บเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไว้ ณ สถานที่ผลิต ได้แก่ สูตรส่วนประกอบ 100%, รายละเอียดกรรมวิธีการผลิต, ชนิดภาชนะบรรจุ, รายงานผลวิเคราะห์และฉลาก
* กรณีสูตรส่วนประกอบมีการเติมสารสำคัญต้องจัดเตรียม Raw Material Specification ไว้ ณ สถานที่ผลิตหรือนำเข้าสำหรับการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่