ค่า ML ตามประกาศฯ ฉบับที่ 414 กับประกาศฯ ฉบับเก่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
25 กรกฎาคม 2566

ตอบ  ประกาศฯ ฉบับเก่า เป็นประกาศฯ ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งค่า ML ของสารปนเปื้อนแต่ละชนิดจะมีค่าเท่ากันในอาหารทุกประเภท โดยพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารที่มีได้ในขณะนั้น ทั้งนี้เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษของสารที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์ที่มี

         ความแม่นยำขึ้น ทำให้ค่า ML ที่กำหนดไว้เดิมนั้นไม่สามารถคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อกำหนดปริมาณการปนเปื้อนมีค่าสูงเกินไปสำหรับอาหารบางชนิดที่ถูกบริโภคครั้งละมากๆ และอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับอาหารบางชนิดซึ่งถูกบริโภคครั้งละปริมาณน้อยๆ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนได้

        ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 414 จึงได้มีการปรับค่า ML ของสารปนเปื้อนแต่ละชนิดให้แตกต่างกันตามชนิดของอาหาร สอดคล้องตามหลักการขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เรื่อง มาตรฐานทั่วไปสำหรับสารปนเปื้อนและสารพิษในอาหารและอาหารสัตว์ (Codex General Standard for Contaminants and Toxins in Food and Feed; CODEX STAN 193-1995) ดังนี้

(1)  กำหนดค่า ML ของสารปนเปื้อนแตกต่างกันในอาหารแต่ละชนิด โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การปนเปื้อนของโลหะหนักแต่ละชนิดในอาหารกลุ่มต่างๆ และการประเมินปริมาณการได้รับสัมผัส

(2)  ค่า ML ของสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 414 ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ในวัตถุดิบ เนื่องจากการควบคุมการปนเปื้อนตั้งแต่วัตถุดิบตามหลัก GMPs นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า ประกอบกับผลิตภัณฑ์อาหารสุดท้ายซึ่งมีสูตรส่วนประกอบและวิธีการผลิตที่หลากหลาย ต้องใช้ทรัพยากรในการศึกษาจำนวนมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการกำหนดค่า

 

link.png   มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน