ตอบ ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 300 องศาเซลเซียส ไม่สามารถทำให้สารละลายไอโอดีนสลายหายไปได้ อ้างอิงผลการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (การศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต และคณะ (2544) ในวารสาร JOURNAL OF FOOD COMPOSITION AND ANALYSIS (2002) 15, 265–276) โดยศึกษาผลของความร้อนในครัวเรือนต่อการสูญเสียไอโอดีน ซึ่งพบว่าความร้อนแบบต่างๆ เช่นการต้ม การนึ่ง การทอด การอบ และการบรรจุกระป๋อง ไม่ได้ทำให้ไอโอดีนสูญหายไป แต่การสูญเสียไอโอดีนนั้นจะขึ้นอยู่กับภาชนะและสารที่ใช้เติมในผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า เช่นการใช้ภาชนะทองเหลือง หรือการเติมสารฟอกขาว พบว่ามีการสูญเสียไอโอดีนมาก แต่ถ้าเป็นอลูมิเนียมหรือแก้วจะไม่สูญเสียไอโอดีน ยกเว้นการเติมกรดบางชนิดลงไป จะทำให้เกิดการสูญเสียได้ และการศึกษาของ รองศาสตราจารย ดร.ครรชิต จุดประสงค์ (2557) ที่ศึกษาเปรียบเทียบการผลิตเกลือบรรจุถุงพร้อมจำหน่ายตั้งทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าไอโอดีนไม่ได้มีการสูญหายไป ถ้าหากมีการเขย่าถุงก่อนการทดสอบ โดยถุงที่มีขนาดใหญ่ (5-7 กก.) จะพบว่ามีการไหลของน้ำที่มีไอโอดีนลงจากด้านบนลงสู่ด้านล่างเท่านั้น โดยเฉพาะการนำไปตากแดด ดังนั้น ก่อนบริโภคหรือนำไปตรวจวิเคราะห์ จึงควรเขย่าหรือคลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนนำเกลือไปใช้งานทุกครั้ง