ข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการ
"อาหาร" หมายถึงอะไร
ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ให้นิยาม “อาหาร” หมายความว่า ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต ได้แก่
1) วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือในรูปลักษณะใด ๆแต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ
2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สีและเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส
* ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีความมุ่งหมายจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากนี้ จะไม่จัดเป็น อาหาร
การจัดกลุ่มประเภทอาหาร
จัดกลุ่มโดยพิจารณาตามความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก, นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก, อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก, อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก, วัตถุเจือปนอาหาร, เอนไซม์สำหรับใช้ในการผลิตอาหาร, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับอาหาร, เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง, ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชงและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ
กลุ่มที่ 2 อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี, นมโค, นมปรุงแต่ง, ผลิตภัณฑ์ของนม, นมเปรี้ยว, ไอศกรีม, อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, ข้าวเติมวิตามิน, เกลือบริโภค, เครื่องดื่มเกลือแร่, ชา, กาแฟ, น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, น้ำแร่ธรรมชาติ, ซอสบางชนิด, ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง, น้ำปลา, น้ำส้มสายชู, น้ำมันและไขมัน, น้ำมันปลา, น้ำมันเนย, เนยเทียม เนยผสม ผลิตภัณฑ์เนบเทียม และผลิตภัณฑ์เนยผสม, ครีม, เนยแข็ง, อาหารกึ่งสำเร็จรูป, น้ำผึ้ง, แยม เยลลี และมาร์มาเลดในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, เนยใสหรือกี, เนย, ไข่เยี่ยวม้า, ชาจากพืช, น้ำเกลือปรุงอาหาร, น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็ง,ช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดโกโก้
กลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก ได้แก่ แป้งข้าวกล้อง, วุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี, อาหารฉายรังสี, ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, วัตถุแต่งกลิ่นรส, ขนมปัง, หมากฝรั่งและลูกอม, อาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที, อาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ, ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
กลุ่มที่ 4 อาหารทั่วไป คือ อาหารที่นอกเหนือจาก กลุ่ม 1-3 โดยส่วนมากใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือปรุงประกอบอาหาร ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์, สัตว์และผลิตภัณฑ์, แป้งและผลิตภัณฑ์, เครื่องปรุงรส, เครื่องเทศ, น้ำตาล, ผลิตภัณฑ์สำหรับทำอาหารชนิดต่าง ๆ ที่ยังไม่พร้อมบริโภค, ข้าวในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย, สารสกัด/สารสังเคราะห์ และสารอาหาร
กรณีใดบ้างที่ต้องยื่นขออนุญาต
ต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร กรณีที่สถานประกอบการมีการผลิตอาหารรวมถึงการแบ่งบรรจุอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังร้านค้าต่าง ๆ หรือแหล่งจำหน่ายสินค้า
ต้องขออนุญาตสถานที่นำเข้าอาหาร กรณีที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ
ต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์ (ขอรับเลขสารบบอาหาร) กรณีที่มีการผลิต หรือ นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อจำหน่ายอาหาร ดังนี้
-
-
- อาหารกลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ
- อาหารกลุ่มที่ 2 อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน
- อาหารกลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก
-
*ทั้งนี้ อาหารกลุ่มที่ 4 อาหารทั่วไป ไม่บังคับต้องยื่นคำขอรับเลขสารบบอาหารก่อนการผลิตหรือนำเข้า แต่หากประสงค์ขอรับเลขสารบบอาหารแล้วจะต้องแสดงฉลากให้ถูกต้อง
ต้องขออนุญาตโฆษณา กรณีที่มีการสื่อถึงคุณภาพ คุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารในสื่อโฆษณา
ต้องยื่นคำขอแก้ไขฯ กรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปจากเดิมที่เคยได้รับอนุญาตไว้
กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต
-
- น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และน้ำผึ้ง ที่สถานที่ผลิตอาหารไม่เข้าข่ายโรงงาน และผู้ผลิตจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค
- อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ผลิตแก่ผู้บริโภคได้ในขณะนั้น เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น
- อาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใด ๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่งหรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสดนั้นได้ เช่น ผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ตัดแต่ง เป็นต้น
- อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกันและรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อด้วย
- อาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น (ยกเว้นผู้ผลิตอาหารกลุ่มควบคุมเฉพาะ ยังต้องขออนุญาตกับอย.) ทั้งนี้สถานที่ผลิตอาหารต้องขออนุญาต
การขออนุญาตด้านอาหารมีอะไรบ้าง
กรณีนำเข้าอาหารผลิตภัณฑ์อาหารวัตถุประสงค์อื่น ๆ
กรณีประสงค์นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการนำเข้าเพื่อจำหน่าย ไม่ต้องขอรับเลขสารบบอาหารแต่ต้องดำเนินการตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
-
- การขอนำเข้าอาหารเพื่อเป็นตัวอย่างในการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือเพื่อพิจารณาในการสั่งซื้อ (อ.16)
- การขอนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะคราว (อ.12)
- เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
- เพื่อเป็นตัวอย่างในการพิจารณารูปลักษณะผลิตภัณฑ์ ที่มิใช่เพื่อการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือเพื่อพิจารณาสั่งซื้อ
- เพื่อเป็นส่วนประกอบในการปรุงหรือเตรียมอาหารในร้านอาหาร โรงแรม หรือภัตตาคารเพื่อทดลองผลิต
- เพื่อการทดสอบความคงสภาพ (Stability) หรือการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่มิใช่เพื่อการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร
- เพื่อใช้ในกิจการของหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยมิใช่ประโยชน์ทางการค้า
- เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
- เพื่อเป็นของขวัญแจกพนักงานหรือใช้ในการจัดประชุมของผู้นำเข้า
- เพื่อบริจาค
- เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มิใช่อาหารหรือยา
- การนำเข้าอาหารเพื่อใช้เฉพาะตัว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรณีนำเข้าอาหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โปรดติดต่อกองด่านอาหารและยา