ข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการ
สถานที่ผลิตอาหาร
ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ความว่า...
“ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
สถานที่ผลิตอาหาร เป็นสถานที่ที่ใช้ในการผลิตและการจัดการเกี่ยวกับอาหารตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรับและจัดเก็บวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ จนถึงการแปรรูปเป็นสินค้า รวมถึงการแบ่งบรรจุสินค้าเพื่อกระจายไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. สถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน เป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตอาหาร รวมต่ำกว่า 50 แรงม้า และใช้คนงานรวมต่ำกว่า 50 คน
"ผู้ประกอบการจะได้รับใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1/1)"
2. สถานที่ผลิตอาหารที่เข้าข่ายโรงงาน เป็นสถานที่ผลิตอาหารที่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิตอาหาร รวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
"ผู้ประกอบการจะได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2)"
การเตรียมความพร้อมสถานที่ผลิตอาหารก่อนการขออนุญาต
การผลิตอาหารจะต้องมีการจัดการสถานที่ผลิตอาหารและกระบวนการผลิตให้มีความเหมาะสม เพื่อให้อาหารที่ผลิตมีความสะอาด ปลอดภัย และเกิดความมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยสถานที่ผลิตอาหารทั้งที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายโรงงานจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร หรือ GMP 420 ซึ่งแบ่งข้อกำหนดออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ข้อกำหนดพื้นฐาน บังคับใช้กับการผลิตอาหารทุกประเภท
2. ข้อกำหนดเฉพาะ เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่มีการผลิตอาหารที่มีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะและมีความเสี่ยงสูง ได้แก่
-
-
- ข้อกำหนดเฉพาะ 1 การผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ และน้ำแข็งบริโภค ที่ผ่านกรรมวิธีการกรอง
- ข้อกำหนดเฉพาะ 2 การผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอไรซ์
- ข้อกำหนดเฉพาะ 3 การผลิตอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด ที่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยทำให้ปลอดเชื้อเชิงการค้า
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ GMP 420 ได้ที่ Link )
-
สำหรับสถานที่ผลิตเกลือบริโภคและสถานที่คัดและบรรจุผักและผลไม้สดบางชนิด ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GMP 420 แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ดังนี้
-
-
- สถานที่ผลิตเกลือบริโภค ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 เรื่อง การขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร เพื่อจำหน่าย และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เกลือบริโภค ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Link
- สถานที่คัดและบรรจุผักและผลไม้สดบางชนิด ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักหรือผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลาก ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Link
-
ขั้นตอนการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร
ขั้นตอนที่ 1 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ OPEN ID ที่เว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ศึกษารายละเอียดได้ที่ Link
ขั้นตอนที่ 2 เปิดสิทธิ์การใช้งานระบบ e-Submission และยื่นขอจัดทำฐานข้อมูลหลักผู้ประกอบการ (Master Data) โดยเตรียมเอกสารตาม "แบบตรวจสอบคำขอและบันทึกข้อบกพร่อง การขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตและเก็บอาหารฯ"
ขั้นตอนที่ 3 ยื่นคำขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหารผ่านระบบ e-Submission และชำระเงินค่าคำขอตรวจประเมินเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์จำนวน 3,000 บาท
ขั้นตอนที่ 4 การรับการตรวจประเมินและรายงานผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (Audit Report) มีขั้นตอนดังนี้
-
-
- เจ้าหน้าที่ติดต่อนัดหมายกับผู้ประกอบการและเข้าตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร ตามหลักเกณฑ์ GMP
- ผู้ประกอบการจะได้รับผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (Audit Report) เมื่อสถานที่ผลิตอาหารที่ผ่านการตรวจประเมินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ GMP
- ผู้ประกอบการชำระเงินส่วนต่างค่าตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร (ถ้ามี) ผ่านระบบออนไลน์
- รับรายงานผลการตรวจประเมินสถานที่ผลิต (Audit report) รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
-
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
- คู่มือการยื่นคำขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร
- นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอตรวจประเมินสถานที่ผลิตอหารกับหน่วยตรวจสอบหรือหน่วยรับรองที่ขึ้นบัญชีกับ อย. โดยติดต่อด้วยตนเอง ตรวจสอบรายชื่อหน่วยตรวจสอบหรือหน่วยรับรอง
สถานที่ติดต่อ
- กรณีสถานที่ผลิตอาหารตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ยื่นเอกสารได้ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จ.นนทบุรี
- กรณีสถานที่ผลิตอาหารตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด ยื่นเอกสารได้ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ
ค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร
แรงม้าเครื่องจักรและจำนวนคนงาน | ค่าใช้จ่าย (บาท) |
ไม่เกิน 5 แรงม้า และคนงาน 1-6 คน | 3,000 |
มากกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 20 แรงม้า | 5,000 |
มากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า | 10,000 |
มากกว่า 50 แรงม้า แต่ไม่เกิน 100 แรงม้า | 15,000 |
มากกว่า 100 แรงม้า | 20,000 |
ระยะเวลาดำเนินการ 10 วันทำการ ไม่นับรวมการแก้ไขเอกสารหลักฐานหรือปรับปรุงสถานที่ผลิตอาหาร
ส่วนที่ 2 ขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร
ยื่นคำขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1) หรือคำขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1) แล้วแต่กรณี ผ่านระบบ e-Submission โดยเตรียมเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน และชำระเงินค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตอาหาร (เฉพาะใบอนุญาตผลิตอาหาร)
ค่าใช้จ่าย
1. ค่าใช้จ่ายในการพิจารณาคำขอและการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร
รายละเอียดคำขอ | ค่าใช้จ่าย (บาท) |
คำขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1) | 1,000 |
คำขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1) | 2,000 |
2. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เฉพาะใบอนุญาตผลิตอาหาร (แบบ อ.2)
แรงม้าเครื่องจักรและจำนวนคนงาน | ค่าใช้จ่าย (บาท) |
คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ไม่ใช้เครื่องจักร | 5,000 |
คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป | 6,000 |
คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป | 7,000 |
คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป | 8,000 |
คนงานน้อยกว่า 50 หรือมากกว่า 50 คน | 10,000 |
ระยะเวลาดำเนินการ 6 วันทำการ ไม่นับรวมการแก้ไขเอกสารหลักฐาน
หน้าที่ของผู้รับอนุญาตและข้อพึงปฏิบัติหลังได้รับอนุญาต
1. ผู้รับอนุญาตจะต้องผลิตและจัดเก็บอาหารตามที่สถานที่ผลิตและเก็บอาหารที่ระบุไว้ในอนุญาต และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GMP กฎหมาย
2. ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตอาหารซึ่งอาหารที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และต้องติดหรือจัดป้ายแสดงสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตไว้ภายนอกสถานที่ในที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย
3. กรณีย้ายสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บอาหาร หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ผลิตหรือสถานที่จัดเก็บอาหารจะต้องแจ้งให้ทางผู้อนุญาตทราบ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน
4. ใบอนุญาตผลิตอาหารที่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ อ.2) ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สามนับตั้งแต่ออกใบอนุญาต และผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission และแนบเอกสารตามคู่มือสำหรับประชาชน หากผู้ประกอบต้องการขอยกเลิกกิจการจะต้องยื่นคำขอกับผู้อนุญาต